จังหวัดอุตรดิตถ์

จังหวัดอุตรดิตถ์

เดิมสะกดว่า อุตรดิฐ เป็นจังหวัดหนึ่งตั้งอยู่ทางภาคเหนือตอนล่าง ของประเทศไทย ได้ชื่อว่าเมืองท่าแห่งทิศเหนือ ตำนานอันลึกลับของเมืองลับแล ดินแดนแห่งลางสาดหวานหอม อุตรดิตถ์เป็นเมืองที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มายาวนาน โดยมีการค้นพบหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของชุมชนมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์

เดิมทีตัวเมืองอุตรดิตถ์ในปัจจุบันนี้เป็นเพียงตำบลชื่อ “บางโพธิ์ท่าอิฐ” แต่เพราะบางโพธิ์ท่าอิฐซึ่งอยู่ริมฝั่งขวาของแม่น้ำน่านมีความเจริญรวดเร็ว เพราะเป็นท่าเรือขนถ่ายสินค้าสำคัญในหัวเมืองฝ่ายเหนือ ดังนั้นในสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ย้ายเมืองหลักมาจากเมืองพิชัยมายังตำบลบางโพธิ์ท่าอิฐ และยกฐานะขึ้นเป็นเมือง “อุตรดิตถ์” ซึ่งมีความหมายว่า ท่าน้ำแห่งทิศเหนือของสยามประเทศ  ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6เมืองอุตรดิตถ์มีความเจริญขึ้น เมืองอุตรดิตถ์จึงได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นจังหวัด

จังหวัดอุตรดิตถ์ตั้งอยู่ทางใต้สุดของภาคเหนือตอนล่าง โดยสภาพภูมิศาสตร์จังหวัดอุตรดิตถ์เป็นจังหวัดที่มีภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาและที่สูงสลับซับซ้อน ซึ่งจะอยู่ทางตอนเหนือและทางตะวันออกของจังหวัด เนื่องจากทำเลที่ตั้งดังกล่าวจึงทำให้จังหวัดอุตรดิตถ์มีอากาศค่อนข้างร้อนอบอ้าวในฤดูร้อน มีอากาศฝนเมืองร้อนเฉพาะฤดูฝน และมีช่วงฤดูแล้งคั่นอยู่อย่างชัดเจนตั้งแต่ประมาณกลางเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤษภาคม เดือนที่ร้อนที่สุดคือเดือนเมษายน จังหวัดอุตรดิตถ์ได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันออกเฉียงใต้เป็นส่วนใหญ่ มรสุมตะวันออกเฉียงใต้ปกติจะมีแหล่งกำเนิดบริเวณทะเลอันดามัน ทำให้จังหวัดอุตรดิตถ์มีช่วงฤดูฝนกินระยะเวลาตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนกันยายน โดยเดือนกันยายนเป็นเดือนที่มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยสูงที่สุด

สัญลักษณ์ประจำจังหวัด

ตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัด

“มณฑปประดิษฐานพระแท่นศิลาอาสน์” ภายในวัดพระแท่นศิลาอาสน์

ตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ ออกแบบโดย พระพรหมพิจิตร (อู๋ ลาภานนท์) ในปี พ.ศ. 2483 ตามนโยบายของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น พระพรหมพิจิตรได้สนองนโยบายที่ให้นำปูชนียวัตถุสถานสำคัญของจังหวัดมาผูกเป็นตรา ท่านจึงได้นำรูปมณฑปประดิษฐานพระแท่นศิลาอาสน์ โบราณสำคัญของจังหวัดอุตรดิตถ์ มาประกอบผูกเข้าไว้เป็นตราประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ ตราที่ผูกขึ้นใหม่นี้เขียนลายเส้นโดย นายอุณห์ เศวตมาลย์ ไม่มีรูปครุฑ, นามจังหวัดและลายกนกประกอบ ต่อมาทางราชการจึงได้เพิ่มรายละเอียดทั้งสามเข้าไว้ในตราจังหวัด ซึ่งตรานี้ยังคงใช้มาจนปัจจุบัน[23]

คำขวัญประจำจังหวัด

เหล็กน้ำพี้ลือเลื่อง เมืองลางสาดหวาน บ้านพระยาพิชัยดาบหัก ถิ่นสักใหญ่ของโลก

คำขวัญประจำจังหวัดอุตรดิตถ์แต่งขึ้นในสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ในสมัยนั้นได้นำนโยบายนี้เข้าสู่ที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการและมีการคิดประกอบคำขวัญจังหวัดอุตรดิตถ์ขึ้นเป็นตัวอย่าง เพื่อมอบให้วิทยาลัยครูอุตรดิตถ์กำหนดกรอบแนวคิดการประกวดคำขวัญประจำจังหวัดต่อไป อย่างไรก็ดี คำขวัญที่คิดในที่ประชุมส่วนราชการได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวางและเป็นที่รู้จักทั่วไป จึงไม่ได้มีการคิดประกวดคำขวัญใหม่ ทำให้คำขวัญดังกล่าวยังคงใช้เป็นคำขวัญประจำจังหวัดมาจนปัจจุบัน[23]

วิสัยทัศน์ประจำจังหวัด 
เมืองแห่งคุณภาพชีวิต ผลผลิตปลอดภัย สืบสานวัฒนธรรมไทย ก้าวไกลสัมพันธ์เพื่อนบ้านยั่งยืน
ต้นไม้ประจำจังหวัด

ต้นสัก

ดอกไม้ประจำจังหวัด

ดอกประดู่บ้าน ดอกไม้ประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ ในราวปี พ.ศ. 2504 รัฐบาลเริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรก ได้มีโครงการพัฒนาท้องถิ่นหลายรูปแบบ ส่วนใหญ่เน้นเรื่องเศรษฐกิจในชุมชนเป็นหลักเพื่อเป็นแบบอย่างในการพัฒนาส่วนหนึ่ง จังหวัดจึงมีนโยบายให้หน่วยงานราชการทุกแห่งปลูกไม้ประดับและไม้ยืนต้นในพื้นที่ของส่วนราชการทุกแห่ง และเสนอแนะให้ปลูกพันธุ์ไม้กัลปพฤกษ์และพันธุ์ไม้ประดู่บ้าน แต่พันธุ์ไม้ที่ปลูกทั้งสองชนิดมีเพียงดอกประดู่บ้านที่บานสะพรั่ง ทางจังหวัดจึงกำหนดให้ดอกประดู่บ้านเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดอุตรดิตถ์

สัตว์น้ำประจำจังหวัด

ปลาตะโกก (Cyclocheilichthys enoplos)

เพลงประจำจังหวัด

เพลงประจำจังหวัดคือ “อุตรดิตถ์เมืองงาม”